รีวิวหนัง Earthquake Bird

หนังดราม่า ทริลเลอร์ซึ่งดัดแปลงมาจากนวนิยายในชื่อเดียวกันกับ Earthquake Bird ผลงานการกำกับของวาช เวสต์มอร์แลนด์ (Still Alice) และนำแสดงโดยอลิเซีย วิกันเดอร์ Netflix

Earthquake Bird มีฉากหลังอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในปี 1989 ว่าด้วยชีวิตการทำงานของ ลูซี่ ฟลาย (อลิเซีย วิกันเดอร์) สาวสวีเดนที่ทำงานเป็นนักแปลภาษา ด้วยชีวิตที่ราบเรียบไม่หวือหวา จนอาจจะกล่าวได้ว่าเธอใช้ชีวิตไปวันๆแบบเดิม กระทั่ง เสื้อผ้า หน้าผม เธอก็ยังแต่งตัวด้วยโทนเสื้อผ้าที่เรียบง่ายจนคล้ายคลึงสาวญี่ปุ่นทั่วไป ลูซี่มีเพื่อนเป็นนักดนตรีอย่างบ๊อบ (แจ็ค ฮิวส์ตัน) และเพื่อนร่วมงานสาวชาวญี่ปุ่นนัตซึโกะ (กิกี้ ซูเกะซาเน่) และยังใช้เวลาว่างในการเล่นเชลโล่กับแม่บ้านชาวญี่ปุ่น คุณคาโต้ (อากิโกะ ไอวาเสะ) แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ชมก็ยังสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยวเหงาของลูซี่ตลอดเวลา

กระทั่งวันหนึ่งลูซี่ได้พบกับตากล้องหนุ่มเทจิ (นาโอกิ โคบายาชิ) ที่จับภาพตอนเธอกำลังเดินอยู่บนถนน แม้การถูกถ่ายรูปในที่สาธารณะเธอเป็นเรื่องการเสียมารยาท แต่ดูเหมือนลูซี่กลับรู้สึกถูกใจในรูปลักษณ์ภายนอกของเทจิ จนอาจจะกล่าวได้ว่านั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ ไม่นานลูซี่จึงเริ่มคบหากับเขา และค้นพบว่าทั้งสองนั้นล้วนแล้วแต่มีด้านดาร์คๆของตัวเองที่ถูกซุกซ่อนไว้ไม่อยากให้อีกฝ่ายเข้าใจ

แต่แล้วเมื่อเพื่อนชาวอเมริกันของลูซี่ อย่างลิลี่ บริดเจส (ไรลีย์ คีโอ) ได้เดินทางมาใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นและก้าวเข้ามาในความสัมพันธ์ระหว่างลูซี่และเทจิ จนกลายเป็นปมสำคัญของเรื่อง เมื่อหนังเผยให้คนดูรับรู้ว่า วันหนึ่งลิลี่ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ จนนำไปสู่คำถามที่ว่า “เกิดอะไรขึ้นกับเธอกันแน่”

อันที่จริงหนังเผยให้คนดูรับรู้ตั้งแต่ฉากแรกของเรื่องแล้วว่าลิลี่ได้หายตัวไปผ่านประกาศคนหาย และลูซี่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยคนสำคัญ เรื่องราวในหนังจึงเริ่มต้นขึ้นผ่านการให้ปากคำกับตำรวจของตัวลูซี่เอง มุมมองในหนังจึงตกอยู่ภายใต้ความคิดของตัวเอกอยู่ตลอดเวลา ว่าเธอเลือกจะให้คนดูได้เห็นชีวิตของเธออย่างไร จนเมื่อหนังดำเนินไปสักระยะ หนังก็เริ่มเผยความน่าเคลือบแคลงในตัวนางเอกว่าจริงๆแล้วเธออาจจะเป็นคนร้ายและอยู่เบื้องหลังการหายตัวไปของเพื่อนเธอ

Earthquake Bird มีความนิ่งเนิบ เน้นห้วงอารมณ์ความคิดของตัวเอกอย่างลูซี่เป็นหลัก มากกว่าจะเน้นขายความลึกลับน่าสงสัยของสถานการณ์ หลายช่วงหลายตอนไม่ใช่สิ่งที่ยากต่อการคาดเดานัก แต่ด้วยวิธีการทำให้คนดูจดจ่ออยู่กับตัวละครอย่างลูซี่ จึงเปิดโอกาสให้นักแสดงสาวอลีเซียได้ เผยแง่มุมการแสดงที่เน้นใช้สายตา มากกว่าคำพูด ประกอบกับที่ตัวละครมีลักษณะ “อมทุกข์” และเก็บงำความรู้สึกเปลี่ยวเหงาเอาไว้คนเดียว ยิ่งทำให้คนดูทั้งสงสารและเดาทางตัวละครไม่ถูกจริงๆ

เหนืออื่นใดคือฉากสุดท้ายที่เธอมีโอกาสได้นั่งปรับทุกข์กับแม่บ้านชาวญี่ปุ่นคุณคาโต้ ที่ต่างมานั่งพูดถึง “ความตายของคนใกล้ตัว” การแสดงในฉากดังกล่าว เรียกว่าเป็นฉากจับใจและอธิบายห้วงความรู้สึกของการปลดปล่อยความทุกข์ที่อัดแน่นภายในใจของตัวละครทั้งสองได้อย่างยอดเยี่ยมและน่าจดจำ

Comments

Popular posts from this blog

รีวิวหนัง : King Richard (2021)

รีวิวหนัง : Goodbye Christopher Robin

รีวิวหนัง : Two (2021) คนคู่